ฮัทช์-แกรมมี่สร้างงานเทเลเซลส์ผู้พิการ

โดย กรุงเทพธุรกิจ Biz week

18 มีนาคม พ.ศ. 2551 10:27:00

ฮัทช์ ผนึกแกรมมี่-พม. ตั้ง "พีดับบลิวดี" บริษัทผู้พิการให้บริการเทเลเซลส์ เปิดโอกาสผู้พิการสร้างรายได้เอง ทุ่ม 1.2 ล้านบาท ทำโครงการแรก 3 เดือนก่อนต่อยอดไปบริการอื่นๆ แจงตั้งบริษัท 15 วัน แสดงศักยภาพรับงานแข่งคนปกติ เล็งพัฒนาบุคลากร พร้อมพัฒนาซอฟต์แวร์ออกต่างประเทศ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายธีรพันธ์ ศิริสุนทรไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์และบริการ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด (ฮัทช์) กล่าวว่า บริษัทร่วมกับ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้แต่งให้บริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอร์ส เมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของผู้พิการ เพื่อให้บริการเทเลเซลส์ เสนอบริการเพลงรอสาย (คอลเลอร์ริง) เปิดโอกาสผู้พิการสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

โครงการนี้ให้ผู้พิการเสนอบริการเสียงรอสายผ่านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งเฟสแรกมีผู้พิการเข้าร่วม 50 คนเข้าฝึกอบรมการให้บริการ และเริ่มจริงวันที่ 20 มี.ค.-20 มิ.ย.นี้ โดยผู้พิการจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่นที่เทียบเท่าบริษัทเอกชนอื่น 40 บาทต่อ 1 เลขหมาย งบประมาณทั้งหมดฮัทช์และแกรมมี่ร่วมกันออกกว่า 1.2 ล้านบาท

“โครงการเทเลเซลส์นี้เป็นโครงการนำร่อง ถ้าได้ผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า ก็มีแนวโน้มที่ฮัทช์จะให้พีดับบลิวดี บริหารและดำเนินการเทเลเซลส์ในบริการเสริมอื่นๆ ของฮัทช์ต่อไปในอนาคต” นายธีรพันธ์ กล่าว

นางสุรภาธนันท์ นิธิยศจิระโชติ กรรมการผู้จัดการ พีดับบลิวดี กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นประมาณ 15 วันเพื่อรับงานโครงการเบื้องต้น และใช้เวลาดังกล่าวพัฒนาซอฟต์แวร์แก่ผู้พิการที่ใช้เมาส์ และคอมพิวเตอร์ได้ ให้บริการเทเลเซลส์ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้พิการมีศักยภาพการทำงาน แข่งขันกับคนปกติได้ขอให้มีโอกาสเท่านั้น

ทั้งนี้ บริษัทร่วมมือกับสมาคมผู้พิการต่างๆ เช่น สมาคมคนตาบอดฯ, สมาคมคนหูหนวกฯ, สมาคมคนปัญญาอ่อนฯ ประสานข้อมูลไปยังผู้พิการทั่วประเทศ และจะรอรับรายชื่อและคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถเข้าร่วมงานก่อน

ปัจจุบันได้เจรจาเพื่อให้บริการกับบริษัทอื่นๆ แล้ว เช่น บริษัท ประกันภัย ให้บริการลักษณะเทเลเซลส์และบริการรูปแบบอื่นๆ แก่ลูกค้า ซึ่งต่อไปหากพีดับบลิวดีพัฒนาบุคลากรผู้พิการให้สามารถทำงานได้ และออกไปเป็นพนักงานประจำกับบริษัทเอกชนอื่นๆ ได้ ก็ถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จ

นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ผู้จัดการทั่วไป พีดับบลิวดี กล่าวว่า ระบบซอฟต์แวร์ใช้โปรแกรมแอ็คเซสธรรมดา และพัฒนาต่อด้วยเอสคิวแอล เป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่าย เพียงใช้งานเมาส์ คอมพิวเตอร์ได้ ก็ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ที่บ้านได้ และกำลังพัฒนาให้ผู้พิการทางสายตาใช้งานได้ด้วย คาดจะสมบูรณ์ประมาณต้นเดือนเม.ย.นี้

นายอภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง ผู้บริหารอำนวยการฝ่ายการตลาด จีเอ็มเอ็ม (ดิจิทัล บิซิเนส) กล่าวว่า แกรมมี่จะเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น เพราะแกรมมี่เองให้บริการเทเลเซลส์ในลักษณะต่างๆ อยู่แล้ว น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้พิการได้มากขึ้น ซึ่งหากการพัฒนาได้ผลดีต่อไป อาจเผยแพร่ซอฟต์แวร์ไปยังต่างประเทศได้ด้วย

นายชาญยุทธ โฆศิรินนท์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า ผู้พิการทั่วประเทศมีกว่า 7 แสนราย ถ้ามีอาชีพและทำงานได้เองจากที่บ้าน จะลดปัญหาการเดินทาง และไม่เป็นภาระของครอบครัว ซึ่งต่อไปจะขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้พิการได้มีงานทำต่อไป

Comments