แหล่งเงินทุนสำหรับเหล่า Startup

image

สำหรับคนที่เริ่มสร้างธุรกิจ ไม่ว่าจะ SME หรือ Startup สิ่งที่ต้องการนอกจากแผนธุรกิจที่ดีก็คือ “แหล่งเงินทุน” นั่นเอง หลายๆคนอาจจะมีคำถามว่า เห้ย เราเพิ่งจะเริ่ม ใครจะกล้าเอาเงินมาลงกับเราล่ะ ไม่ต้องห่วงครับ เรามีนักลงทุนที่พร้อมจะลงทุนกับเราอยู่โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ

บทความที่เกี่ยวข้อง : Startup คืออะไร เหมือนหรือต่างจาก SMEs ยังไง ?!?

1.  Angel Investor หรือเทวดาเจ้าขาผู้น่ารัก ในที่นี้อาจจะเป็นสถาบันหรือหน่วยงานอย่าง Incubator หรือเป็นคนเพียงคนเดียวก็ได้ (ครั้งหนึ่ง Steve Jobs ก็ได้รับเงินจาก Angel Investor เหมือนกัน เมื่อตอนเริ่มต้นสร้าง Apple แรกๆ) ในอเมริกาเงินลงทุนก้อนนี้จะอยู่ที่ตั้งแต่ $20,000 - $200,000 หรือ ประมาณ 6 แสน ถึง 6 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้นไม่เกิน 20% ของคนไทยเท่าที่เคยได้ยินมาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 500,000 – 2,000,000 บาทนะครับ เหล่าเทวดามักจะเน้นน้ำหนักให้ความสำคัญกับแนวคิดธุรกิจที่น่าสนใจมากกว่าที่จะเน้นเรื่องผลตอบแทนในการลงทุน Angel จะไม่ค่อยเข้ามาก้าวก่ายการบริหารงานมากนัก และจะปล่อยให้เจ้าของไอเดียเป็นคนบริหารให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ แต่จะเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษาและคำแนะนำ

2. Venture Capital หรือเรียกย่อๆว่า VC เป็นนักลงทุนในรูปแบบองค์กร หรืออาจเรียกว่าเป็นองค์กรที่ประกอบขึ้นมาจากนักลงทุนหลายๆ คนรวมตัวกัน มีระยะเวลาการลงทุนที่ประมาณ 3-5 ปี ทั้งนี้ VC แบ่งออกเป็น Series A, B, C และ D โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) Series A นี่คือช่วงที่น่าจะเรียกว่าพ้นการเป็น Startup กลายเป็น Real Business ไปเสียแล้ว ซึ่งคราวนี้ถ้ามีคนเอาเงินมาลงให้อีก $1,000,000 (30,000,000 บาท) เพื่อแลกกับหุ้น 20% นั้นหมายความว่ามีคนกำลังคิดว่ามูลค่าธุรกิจของเราคือ $5,000,000 (150,000,000 บาท)

2) Series B อันนี้ตลาดในประเทศคงไม่พออีกต่อไปแล้ว มันมักจะกลายเป็นการโตออกไปในระดับภูมิภาค ถึงตอนนี้ถ้ามีคนเอาเงินมาลงให้อีก $10,000,000 (300,000,000 บาท) เพื่อแลกกับหุ้น 10% นั้นหมายความว่ามีคนกำลังคิดในว่ามูลค่าธุรกิจของเราคือ $100,000,000 (3,000,000,000 บาท) Startup ในประเทศไทยเรามีบริษัท Startup ที่ได้เงินทุนระดับนี้อยู่เหมือนกันครับ นั่นก็คือ ‘Ookbee’ ธุรกิจ e-boook นั่นเอง

3) Series C ถึงระดับนี้มันต้องระดับโลกเท่านั้น ถ้ามีคนเอาเงินมาลงให้อีก $100,000,000 (3,000,000,000 บาท) เพื่อแลกกับหุ้น 10% นั้นหมายความว่ามีคนกำลังคิดว่ามูลค่าธุรกิจของเราคือ $1,000,000,000 (30,000,000,000 บาท)

VC ในเมืองไทยก็จะมี Invent ของ AIS www.vnet.co.th บจ. Vnet Capital ซึ่งเป็นผู้ลงทุน iStudio ที่เรารู้จักกันดีในนามผู้ขายสินค้า Apple เป็นต้น

หมายเหตุ: ผมเห็นหลายๆสำนักเขียนแค่ 2 แหล่งเงินทุนบนเท่านั้น แต่พักหลังนี้มีคนพูดถึงอีก 1 ทางเลือกขึ้นมา ผมก็เลยขอเอามาใส่เป็นข้อที่ 3 เองเลย ซึ่งมันอาจจะไม่ตรงกับทฤษฎีของคนอื่นนะครับ แต่สำหรับผมแล้ว มันคืออีกหนึ่งแหล่งของเงินทุนครับที่น่าสนใจเลยทีเดียว

3. Crowdfunding หรือ Social Funding ชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าต้องเกี่ยวกับคนหมู่มากแน่ๆ ซึ่งมันก็เป็นตามนั้นเลยครับ มันคือการระดมเงินทุนจากคนหมู่มากหรือจากสังคมของคนที่สนใจจะลงทุนในไอเดียใหม่ๆ และผลักดันจนกลายมาเป็นธุรกิจขึ้นมา Crowdfunding นั้นมีอยู่ 3 รูปแบบ

1) Donation-Based / Reward-Based Crowdfunding คือการระดมเงินทุนในรูปแบบการ ขอบริจาค (Donation) หรือการให้สิทธิ์ประโยชน์บางอย่าง (Reward) เป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินทุน ตัวอย่างเมืองนอกก็คือ Kickstarter

2) Loan-Based / Debt Crowdfunding คือการขอกู้เงิน (Loan) จากคนทั่วไปจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ล่วงหน้า โดยมีกำหนดในการชำระเงินกู้คืน และมีการจ่ายดอกเบี้ย ให้กับนักลงทุน ตัวอย่างได้แก่ Kiva.org

3) Equity Crowdfunding คือการ “เข้าหุ้น” กันดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ล่วงหน้า โดยนักลงทุนจะได้รับหุ้น (สิทธิ์ในความเป็นเจ้าของบริษัท) แลกกับเงินทุน พร้อมโอกาสในการได้รับเงินปันผล (ส่วนแบ่งกำไร) จากกิจการในอนาคต และอาจสามารถขายหุ้นที่ได้มา เพื่อกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ตัวอย่างได้แก่ Startupvalley

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราคงพอจะเห็นทางสว่างของชีวิตกันแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นจากแผนธุรกิจของเรา เอาให้เนี๊ยบ แล้วติดต่อไปยังแหล่งเงินทุนต่างๆเหล่านี้ แรกๆเราอาจจะโดนตอกกลับหน้าหงายกลับมา แต่เราจะได้เรียนรู้ว่าเจ้าของเงินเหล่านั้นเขาต้องการอะไร แล้วเราก็สามารถเตรียมคำตอบสำหรับการนำเสนอครั้งต่อไปได้

ขอบคุณข้อมูลจาก: 1) incquity.com 2) ชี้ช่องรวย.com 3) thumbsup.in.th 4) a-academy.net 5) thaistartupcafe.com

Comments