ความเหมือนและต่างของหลักการใน The 4-Hour Workweek กับ หนังสือชุด Rich dad Poor dad



โดยส่วนตัวนั้น ผมเป็นแฟนคลับของทั้งหนังสือ The 4-Hour Workweek และ หนังสือชุด Rich dad Poor dad นี้อยู่แล้วครับ และก็ยังคงยืนยันว่ามันเป็นหนังสือที่ดีมาก และควรค่าแก่การอ่านเป็นที่สุด

Rich dad Poor dad เล่มแรก คลอดเมื่อปี ค.ศ. 2000

The 4-Hour Workweek คลอดเมื่อปี ค.ศ. 2007

หนังสือ Rich dad Poor dad แก่กว่า The 4-Hour Workweek อยู่ 7 ปีด้วยกัน ว่าแต่เนื้อหานั้นจะเป็นอย่างไรล่ะ ของใหม่จะมีอะไรอัพเดตกว่ามั้ย มาดูกัน

ผมขออนุญาตเริ่มจากผู้ใหญ่ก่อนนะครับ ต้องบอกก่อนว่าหนังสือของ โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert Kiyosaki) นั้นมีอยู่หลายเล่มมากครับ แต่ละเล่มก็มีจุดประสงค์หลักแตกต่างกันไป ผมจะขอยกแค่บางส่วนของหนังสือชุด Rich Dad Poor Dad มาพูดแล้วกันนะครับ

โรเบิร์ต จะพูดถึงที่มาของรายได้ทั้ง 4 ทาง คือ

รูปจาก Richdad.com


E - Employee หรือ รายได้จากเงินเดือน เป็นรายได้ที่คงที่ไม่ว่าเราจะทำมากน้อยแค่ไหนก็ตาม รายได้ส่วนนี้จะเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อเราได้เงินเดือนขึ้น หรือไม่ย้ายงานอัพเงินเดือน และแน่นอนว่ามีเวลาเข้าออกงานตามทีบริษัทกำหนดให้
S - Small Business หรือ Self Employed หรือ รายได้จากการเป็นนายจ้างตัวเอง (พวก Freelance หรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น) ข้อที่ได้เปรียบกว่ารายได้จากการเป็นลูกจ้างคือ ทำมากได้มาก แต่ถ้าเราหยุดทำเมื่อไหร่ รายได้เราก็จะหยุดไปด้วย
B - Business หรือ รายได้จากธุรกิจ ในที่นี้หมายถึงเจ้าของธุรกิจที่มีระบบ เจ้าของไม่ต้องใช้เวลาทำงานมากนัก หรือแทบจะไม่ต้องทำงานเลย
I  -  Investor หรือ รายได้จากการลงทุน ซึ่งเป็นได้ทั้ง การลงทุนในตราสาร เช่น หุ้น หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

โรเบิร์ตจะเน้นเสมอว่า หากเราต้องการที่จะใช้เงินกับอะไรก็ตามที่เราอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หรือการไปเที่ยวพักผ่อน (ที่ต้องใช้เงินก้อน) เราควรจะอดทนแล้วมาซื้อสินทรัพย์ (Asset) ก่อน แล้วให้สินทรัพย์นั้นมาจ่ายค่าใช้จ่ายนั้นๆแทน ทรัพย์สินในที่นี้เป็นได้ทั้ง หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ธุรกิจ (หมายถึงธุรกิจที่มีระบบ) นั่นหมายถึงว่า ต่อให้เราเที่ยวอยู่ที่ไหนหรือนานแค่ไหนก็ตาม เราก็จะมีกระแสเงินสดไหลเข้ามาอยู่เรื่อยๆนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง ปรับแนวคิดทางการเงินเพื่อไปสู่เป้าหมายในชีวิต 




ทีนี้มาดูที่หนังสือ The 4-Hour Workweek ของพี่ ทิม เฟอร์ริส (Tim Ferris) กันบ้าง โดยหลักการแล้ว แก่นของเนื้อหาไม่ได้ต่างกันนัก คือ การสร้างระบบในการทำงาน(นอกสถานที่) โดยนายทิมเนี่ยจะเน้นไปทางการใช้ชีวิตอิสระ สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ไหนก็ตาม และจำกัดงานที่ทำเฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น หากเอารายได้ 4 ทางของโรเบิร์ตมาใช้เพื่อเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพ ตามแนวคิดของพี่ทิมแล้ว รายได้ทั้ง 4 ด้านสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ออฟฟิศเลย พี่ทิมเขาจะบอกวิธีที่ทำให้เราสามารถทำงานได้ถึงแม้ไม่อยู่ที่ทำงานก็ตาม

สำหรับไอเดียของพี่ทิมในการสร้างธุรกิจก็คล้ายๆของคุณลุงโรเบิร์ต คือการพยายามเอาตัวเองออกจากธุรกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือออกไปเลยได้ก็ยิ่งดี เหมือนอย่างที่ทิมเขาได้ทำกับธุรกิจของเขา จากเดิมที่เขาลงมือดูแลธุรกิจด้วยตัวเอง เขาทำงานหารายได้อยู่ในช่อง S ในที่นี้คือ Small Business จนมาถึงจุดเปลี่ยนที่ทิมเขากลับมาถามตัวเองว่า นี่หรือคือชีวิตที่เขาอยากมี และเมื่อทิมชัดเจนในความต้องการของตัวเอง เขาก็เปลี่ยนทุกอย่าง วางระบบให้กับธุรกิจและตัวเอง จ้างผู้ช่วยมาช่วยในหลายๆเรื่อง เช่น การรับโทรศัพท์ การเช็คอีเมล์ และรวมถึงการตัดสินใจแทนเขาในบางเรื่อง ซึ่งในระบบนี้เองที่ทำให้ทิมไม่ต้องนั่งเฝ้าธุรกิจของเขา และสามารถใช้ชีวิตตามประเทศต่างๆที่เขาอยากไป โดยรายได้ยังเข้ามายังกระเป๋าเขาอย่างต่อเนื่อง

แต่ที่พีคและแตกต่างอย่างมากระหว่างแนวทางของพี่ทิมและลุงโรเบิร์ตก็คือ พี่ทิมเชื่อว่าคนที่อยู่ในกลุ่ม E ก็สามารถทำงานจากนอกออฟฟิศได้ ซึ่งในหนังสือของทิมนั้น เขาจะบอกวิธีในการค่อยๆเอาตัวออกจากที่ทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนสุดท้ายก็สามารถยื่นข้อเสนอกับนายจ้างว่าขอทำงานจากนอกสถานที่ได้ในที่สุด นั่นหมายความว่า เรายังมีรายได้แบบ Active Income อยู่ คือต้องมานั่งทำงานอยู่ แต่ในเวลาเดียวกันเราก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่เราต้องการได้

บทความที่เกี่ยวข้อง THE 4-HOUR WORKWEEK ไบเบิ้ลของเหล่า DIGITAL NOMAD 


ก็อย่างที่บอกน่ะครับ ว่าหนังสือสองเล่มนี้มีความเหมือนและต่างกันอยู่ โรเบิร์ต เน้นการสร้างทรัพย์สินก่อนใช้ชีวิต ถ้าเป็นในมุมการสร้างธุรกิจ ก็ให้สร้างระบบขึ้นมา แล้วก็เอาตัวเองออกมาจากระบบนั้นๆ พี่ทิมเองก็มีแนวคิดเดียวกันในการสร้างธุรกิจ คือ เอาตัวเองออกจากระบบ ขจัดงานที่ไม่จำเป็นทิ้งไป คือ ให้คนอื่น (Outsourcing) หรือระบบอัตโนมัติมาจัดการแทน แต่จุดที่ต่างอย่างชัดๆคือ ทิม เฟอร์ริส พยายามบอกกับผู้อ่านว่า ต่อให้เราเป็นพนักงานเงินเดือน เราก็สามารถออกไปใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องรอเมื่อเกษียณแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะยุคสมัยปัจจุบัน หลายๆบริษัทก็ยอมรับที่จะให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ (เพราะบริษัทก็สามารถประหยัดได้ในหลายๆอย่าง พนักงานก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไม่เหนื่อย) ทำให้แนวคิดจากหนังสือ The 4-Hour Workweek ดูเป็นไปได้และไม่เกินจริงนัก แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง บางบริษัทรุ่นใหม่ ก็เริ่มให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้

อย่างไรก็ตาม หนังสือทั้งสองเล่มนี้ก็เป็นหนังสือที่ผมอยากจะแนะนำให้อ่านกันนะครับ

Comments