จานดาวเทียม C Band & Ku Band แตกต่างที่ตรงไหน?


ระบบรับสัญญาณดาวเทียม โดยเฉพาะการรับสัญญาณจากดาวเทียม ที่เราเคยได้พบเห็น ได้ยินบ่อยๆ มีอยู่ 2 ระบบคือ


ระบบ C Band และ ระบบ Ku Band

ขออธิบายความอย่างง่ายๆ ถึงคุณลักษณะของทั้ง 2 ระบบ ดังต่อไปนี้
1.ความเข้มของสัญญาณในการส่ง C Band จะเบากว่า Ku Band เป็นเหตุผลในทางเทคนิค ตามข้อที่ 2
2.พื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณ ( Beam Coverage Area) ระบบ C Band จะใช้งานเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่รับสัญญาณได้กว้างขวางทั้งแบบ Regional และ Global แต่ระบบ Ku Band จะใช้เพื่อคลอบคลุมพื้นที่เฉพาะ ทั้งแบบ Spot Beam และ Steerable Beam จึงในทางเทคนิคต้องส่งสัญญาณ C Band ให้มีความเข้มของสัญญาณน้อยกว่า Ku Band เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกันได้
3.ลักษณะของใบจานรับสัญญาณ C Band จะเป็นตะแกรงโปร่ง หรือทึบ ทรงกลม ขึ้นรูปพาราโบลิค ขนาดทั่วไปเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.5 - 12 ฟุต ส่วน Ku Band จะเป็นจานทึบ Offset รูปไข่ ขนาด 0.35 - 1.80 เมตร
4.ขนาดของจานรับสัญญาณดาวเทียม จากเหตุผลข้อที่ 1 ทำให้ระบบ Ku Band สามารถใช้ใบจานขนาดเล็กกว่า C Band ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น UBC จะใช้ใบจาน Offset ขนาด 35 ซม. แบบพิเศษ (Double Strenght) หรือจาน Offset ขนาด 75 ซม. ก็สามารถรับสัญญาณได้ดี ในขณะที่ระบบ C Band ต้องใช้ใบจานขนาดใหญ่กว่าถึง 2-3 เท่า เพื่อให้รับสัญญาณได้ดี (ดูภาพประกอบ)
5.ลักษณะของแผ่นสะท้อนของใบจาน ระบบ Ku Band จะเป็นโลหะแผ่นเรียบจะเป็นอลูมีเนียม หรือ เหล็กชุบสี ก็มีให้เห็น ในขณะที่ C Band ส่วนใหญ่จะเป็นตะแกรงปั้มเป็นรูเล็กๆ จาน C Band แบบทึบมีให้เห็นบ้างแต่น้อยมาก แล้วถ้าหากว่า จะใช้จานแบบ C Band รับสัญญาณระบบ Ku Band ได้มั้ย ตอบว่าได้แต่ในทางกลับกันจะเอาจาน Ku Band มารับสัญญาณ C Band ไม่ได้
6.หัวรับสัญญาณ ซึ่งในทางเทคนิคเรียกว่า LNBF (Low Noise Block Down Frequency) เป็นตัวแปลงสัญญาณความถี่สูงให้ต่ำลงมาจนเหมาะสมกับภาครับของเครื่องรับ สัญญาณ (Receiver) ซึ่งระบบ C Band จะรองรับความถี่ 3.4-4.2 GHz ในขณะที่ Ku Band รองรับความถี่ 10-12 GHz จึงใช้แทนกันไม่ได้ อาจมีบางรุ่นที่ทำแบบ 2 in 1 คือ เอาหัวรับสัญญาณ 2 ระบบบรรจุไว้ใน Case เดียวกัน
7.เครื่องรับสัญญาณ (Receiver) โดยทั่วไปไม่แตกต่างกันนอกจากผู้ผลิตจะเจตนาให้ตัวเครื่องรับได้เฉพาะระบบ เช่น เครื่องรับสัญญาณของ UBC จะไม่สามรถนำมาใช้รับสัญญาณระบบ C Band ได้ โดยทั่วไปเครื่องรับสัญญาณ (Receiver) สามารถรับสัญญาณได้ทั้ง 2 ระบบ เพียงตั้งค่า LNBF ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง

ข้อควรรู้เพิ่ม เติม คือ ระบบ Ku Band เป็นระบบที่ส่งสัญญาณด้วยความถี่สูง ซึ่งจะมีปัญหาการรับสัญญาณในขณะฝนตก การเพิ่มขนาดใบจานอาจช่วยได้บ้างแต่ถ้าฝนตกหนัก เมฆหนาทึบ จะรับสัญญาณไม่ได้ ในขณะที่ C Band จะเหนือกว่าตรงที่ไม่มีปัญหาขณะฝนตก

Share

Comments