ความจำเป็นในการเรียนรู้เรื่อง "การบริหารการเงิน" หรือ "Money Management"

เหตุเกิดขึ้นจากข่าวที่ว่าจะมีการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก !!!



อ่านเนื้อหาข่าวได้ที่ :: PPTV 

เห็นคนเริ่มบ่นกันใหญ่ ทีแรกเห็นหลายเว็บข่าวขึ้นข่าวนี้มา ก็ลองเข้าไปอ่านดู เห็นมีเนื้อหาที่สั้นมากยังไม่เห็นรายละเอียดว่ามันยังไง (เพราะสำนักข่าวชอบเขียนหัวข้อข่าวให้ตกใจ) ก็มาเจอของ PPTV ที่เขียนเนื้อหาเยอะและพอทำให้เข้าใจได้อยู่

แต่ที่เรากำลังบ่นกันอยู่ มันคือเงินบนดอกเบี้ย 0.05% - 1.00% สำหรับฝากออมทรัพย์ หรือ 1.7% – 2.0% สำหรับฝากประจำ ซึ่งผมว่ามันไม่ได้เยอะเท่าไหร่เลยครับ อ๊ะๆ ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยนะครับ แต่ที่จริงแล้วด้วยดอกเบี้ยขนาดนี้ผมว่าเราก็ไม่ควรที่จะเอาเงินก้อนใหญ่ๆไปฝากไว้อยู่แล้วนะครับ ผลตอบแทนมันแทบไม่มีอยู่จริง แถมยังจะโดนเก็บภาษีอีก (ถ้ากฎหมายนี้ผ่านนะ) ผมว่าสิ่งที่เราควรทำก็คือ เอาเงินไปลงทุนครับ คำถามคือ เอาเงินทั้งหมดไปลงทุนเลยหรอ? ลงทุนที่ไหน? ใจเย็นๆครับ ก่อนจะเอาเงินไปลงทุนเราควรจะแบ่งเงินของเราออกมาเป็นส่วนๆก่อนครับ

ผมขอยกแนวคิดของ Money Coach จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม มานะครับ ผมว่ามันใช้ได้จริง

ส่วนแรก แบ่งไว้เป็นเงินหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายของเรา
ส่วนที่สอง ให้เก็บสำหรับการฉุกเฉิน เช่น การตกงานโดยไม่ได้ตั้งตัว
ส่วนที่สาม คือ การลงทุน

Tip: พอแบ่งเงินเสร็จแล้ว เมื่อเราได้รับเงินมา เช่น เงินเดือน หรือค่าจ้าง ให้เราแบ่งส่วนที่เราจะเก็บออกมาก่อนเลยนะครับ อย่ารอจนสิ้นเดือนแล้วค่อยเอาที่เหลือมาเก็บหรือลงทุน เพราะเราจะไม่เหลือ 

เริ่มต้นโดยให้เราประมาณการค่าใช้จ่ายของเราว่าในหนึ่งปีเรามีค่าใช้จ่ายอยู่เท่าไหร่ ซึ่งอาจจะวางเป็นรายเดือนแล้วเอามารวมเป็นทั้งปีก็ได้ สำคัญคือในแต่ละเดือนอาจจะมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากันเพราะอาจจะมีค่าประกันมาในเดือนนั้น ค่าซ่อมรถ และอื่นๆอีก พยายามเก็บรายละเอียดในส่วนที่เราต้องใช้จ่ายจริงๆให้ได้เยอะที่สุด - เงินก้อนนี้ก็ให้มันอยู่ในธนาคารแหล่ะครับ มีสภาพคล่องมากสุด เบิกถอนง่าย

ส่วนที่สอง เงินสำหรับฉุกเฉิน อันนี้โค้ชหนุ่มแนะนำให้เก็บจนครอบคลุมค่าใช้จ่าย(ในส่วนแรก)เป็นระยะเวลา 6 เดือน ... ทำไมถึงต้อง 6 เดือน มันตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ภายในระยะเวลา 6 เดือนนั้น เราน่าจะหางานใหม่ได้ หรือไม่ก็เริ่มหารายได้เข้ามาได้แล้ว - ซึ่งเงินส่วนนี้ควรจะเก็บในที่ที่มีดอกเบี้ยสูงหน่อย ทีที่วางเงินก็ต้องเอาเงินออกมาได้ไม่ยากนัก(หากจำเป็นต้องใช้) เช่น การฝากประจำ หรือ ลงทุนในกองทุน

*ตอนนี้ผมทำการทดลองแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน แล้วไปซื้อกองทุนแบบ DCA หรือ Dollar Cost Averaging (คือ ลงทุนในจำนวนเงินที่เท่าๆกันในทุกๆเดือน) และอีกส่วนไปฝากประจำ ซึ่งเดี๋ยวครบกำหนดแล้วจะมาเล่าให้ฟังว่ารายได้จากฝั่งไหนดีกว่ากันนะครับ

หลังจากส่วนที่สองเก็บจนครบ หรือใครเจ๋งกว่านั้นสามารถแบ่งเงินได้เป็นสามส่วน ก็ให้เอาเงินมาลงทุนให้เกิดดอกออกผลกันเถอะครับ ว่าด้วยการลงทุนเราก็ควรจะต้องศึกษากันให้ดีก่อนนะครับว่าเราจะเอาเงินของเราไปลงทุนอะไรดี จะลงทุนในหุ้น หรือจะลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว อันนี้ก็ต้องดูว่าเราถนัดแบบไหน ถ้าลงทุนในหุ้นแบบระยะยาว หรือ VI อันนี้เหมาะกับคนที่อยากเป็นเจ้าของกิจการแต่ไม่ชอบบริหารธุรกิจ หรือบางคนชอบตื่นเต้นหน่อย และพอมีเวลา ก็อาจจะไปเทรดค่าเงิน Forex ขึ้นลงแรง ได้ๆเยอะเจ็บๆหนัก หรือบางคนถนัดค้าขาย ก็เอาเงินไปลองซื้อของมาขายดู แต่ให้รู้ไว้เลยว่าเงินที่เราเอามาลงทุนในส่วนตรงนี้ อาจจะหายไปหมดก็ได้นะครับ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง การทำธุรกิจก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ถึงบอกเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า ต้องศึกษา ให้ดีก่อนนะครับ ทั้งนี้ในความเสี่ยงของการลงทุน มันก็มีวิธีการบริหารความเสี่ยงอยู่ บทความนี้คงไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดของการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงแต่อย่างใด แค่จะชี้ให้เห็นภาพในเบื้องต้น

สรุป การจะเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากอย่างที่เป็นข่าวนั้น สำหรับผมมันเป็นส่วนที่เล็กน้อยมากเลยครับหากเรารู้จักการบริหารจัดการเรื่องเงินของเราให้ดี เราเอาเงินไปวางไว้ที่ที่มันควรจะอยู่ตามแผนที่เราวางไว้ และอยากให้ศึกษาเรื่องการเงินเอาไว้ก็ดีครับ เราจะได้รู้ว่าเงินของเราควรจะไปอยู่ที่ไหนดี

Comments