#วิเคราะห์บ้านๆ คู่แข่งบนเส้นคู่ขนาน


เรื่องเล่าต่อจากนี้มาจากประสบการณ์ตรงของผม ซึ่งจะขึ้ให้เห็นแนวทางการบริหารของสอง CEO ที่ผมได้สัมผัสมา ลองอ่านดูครับผมว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับใครหลายๆคน

"เขามีอะไรที่เราไม่มี"


ประโยคนี้เป็นประโยคที่ผมได้ยินตอนผมอยู่ในห้องประชุมกับนายใหญ่ของผม (เป็นอดีตนายใหญ่ไปละ) ขอเท้าความกันนิดนึงนะครับ ผมอยู่ในธุรกิจ Home Shopping ที่กำลังแข่งขันกันดุเดือดกันอย่างมาก ผมเคยอยู่ในช่องที่เคยเป็นน้องใหม่มาแรงมาก กระโดดขึ้นมาอยู่ Top5 ของกลุ่มธุรกิจ Home Shopping ได้อย่างรวดเร็วเลยทีเดียว ผมเชื่อว่าบางคนพอจะเดาได้ว่าผมเคยทำอยู่บริษัทไหนมา

เอาล่ะกลับมาที่ประเด็นประโยคจั่วหัวกันดีกว่าครับ ว่านายผมเขาหมายถึงใครกัน แน่นอนว่าธุรกิจ Home Shopping สินค้าที่เป็นหัวหอกหลักๆก็หนีไม่พ้นพวกอาหารเสริม และคนที่นายเก่าผมพูดถึงนั้นก็อยู่ในธุรกิจอาหารเสริมนั่นเอง และอยู่มายาวนานแล้วซะด้วย (นานกว่านายเก่าของผมอีก) และที่สำคัญคนๆนี้เขาเคยอยู่ในบริษัทนี้เหมือนกันครับ

ตอนนั้นที่ผมได้ยินประโยคนี้ ผมก็คิดนะว่า เอ่อ นั่นสิ เขามีอะไรที่เราไม่มี เพราะนายเก่าของผมคนนี้มีช่องทีวีเป็นของตัวเองด้วยนะครับ นั่นหมายถึงเขามีเครื่องมือที่แข็งแกร่งมากอยู่ในมือ แต่ของคนๆนั้นไม่มี นายเก่าผมมีหัวเป็นพ่อค้ามาก ทุกดอก ทุกดีลของแก ต้องมีกำไรเสมอ ซึ่งผมเชื่อว่านายเก่าผมคนนี้เป็นพ่อค้าที่เก่งมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทยเลยครับ และผมเชื่อว่าเก่งกว่าคนๆนั้นด้วย และอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้นายเก่าผมถึงยังรู้สึกว่า คนๆนั้นยังคงอยู่ในหัวเหมือนเป็นสิ่งที่ค้างคาใจอยู่ตลอดเวลา ผมบอกเลยว่า ณ ตอนนั้น ผมก็ไม่มีคำตอบ

แต่ด้วยโชคชะตาอะไรบางอย่าง ทำให้ผมได้มีโอกาสได้มาทำงานกับคนๆนั้น (ต่อไปขอเรียกว่านายใหม่นะครับ) เอาจริงๆผมก็เพิ่งมาร่วมงานกับเขาน่ะครับ แค่เวลา 31 วันนี้เอง มันทำให้ผมพอจะได้คำตอบให้กับคำถามข้างต้นบ้างแล้ว ลองมาดูคำตอบเหล่านั้นกันครับ

1. เอาจริงๆ ทั้งสองนายมีแนวความคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นายเก่าของผมเน้นสร้างแพลตฟอร์มการขาย แล้วนำสินค้าจากที่ต่างๆเข้ามาขายผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆแล้วเก็บส่วนต่าง ถึงแม้จะมีสินค้าที่ผลิตเองบ้าง แต่ก็ไม่ได้เน้นอะไรมาก ส่วนนายใหม่นั้น เขายึดแนวทางเป็นผู้ผลิตสินค้า เน้นแบรนด์สินค้าให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ส่วนช่องทางขายก็ใช้หลากหลายช่องทางเท่าที่มันจะมี

2. ด้วยความเป็นพ่อค้าที่ไม่ยอมขาดทุนของนายเก่า หรือแม้กระทั่งกำไรไม่ถึงที่ต้องการก็จะไม่เอาแล้ว ทำให้เขาไม่ได้ให้โอกาสกับช่องทางบางช่องทางที่ต้องมีการลงทุนแบบยอมขาดทุนไปก่อนในช่วงต้น เพื่อหาหนทางที่จะได้กำไรในอนาคต ซึ่งไม่ได้บอกว่าเขาคิดผิดนะครับ เพราะอย่างที่บอกว่าเขามีเครื่องมือที่แข็งแกร่งอยู่ในมืออยู่แล้ว นั่นคือสื่อทีวี แต่นายใหม่ ด้วยความไม่ได้มีเครื่องมือหรือสื่อเป็นของตัวเอง ดังนั้นเขาต้องดิ้นรนเพื่อหาช่องทางที่เขาสามารถทำเงินได้ตามที่เขาต้องการ

3. ทั้งนี้ก็ใช่ว่าความไม่ได้เป็นเจ้าของช่องจะมีผลร้ายเสียอย่างเดียว ด้วยความไม่มีช่องเป็นของตัวเอง ทำให้นายใหม่สามารถติดต่อกับทุกๆช่องได้อย่างสบาย ถ้ายังไม่เห็นภาพ เราเคยเห็นสินค้าของ RS mall ไปขายอยู่บนรายการของช่อง One31 มั้ยครับ บอกเลยว่าไม่มีทาง แต่นายใหม่ของผมสามารถวิ่งเข้าไปได้ทุกช่องตราบเท่าที่มีเงินจ่าย ซึ่งข้อเสียก็คือ จะต้องเสียเงินซื้อเวลาที่สูงกว่าการมีช่องทีวีเป็นของตัวเองแน่ๆ (แต่บางที่ก็มีข้อยกเว้นนะครับ)

4. นายเก่าผมเป็นนายที่ไม่ได้ลงมาดูแลลูกน้องมากนักเนื่องจากความใหญ่ของบริษัทและปริมาณของพนักงานที่มากมายนั่นเอง ดังนั้นมันเลยไม่มีความผูกพันกันระหว่างนายกับลูกน้อง ซึ่งเขาไม่ได้ผิดอะไร มันเป็นสไตล์การบริหารของแต่ละคน แต่ก็ต้องบอกเลยว่าการบริหารคนแบบนี้จะไม่สามารถรักษาคนให้อยู่ได้ ส่วนนายใหม่ของผม เขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับคนมาก พูดง่ายๆว่าใส่ใจลูกน้องมากจนลูกน้องรู้สึกเกรงใจ และอยากจะทำงานให้ได้ดีเพื่อเป็นการตอบแทน แต่แน่นอนว่าการบริหารงานแบบนี้ มันเหนื่อยมากๆครับ เหนื่อยทั้งใจและเหนื่อยทั้งกายเลยครับ และพอบริษัทเติบโตขึ้น มีคนมากขึ้น ระยะห่างก็จะมากขึ้นตามไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

5. นายใหม่ผมเป็นคนไปขายเองเป็นส่วนใหญ่ เวลาไปออกรายการต่างๆที่ไปซื้อเวลาเอาไว้ บ่อยครั้งที่นายใหม่จะเป็นคนไปขายเอง มันทำให้คนดูเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้ามากขึ้น และผลตอบลัพธ์จากที่ผมเห็นมา ถือว่าดีมากครับ แต่แน่นอนด้วยวิธีนี้เอง มันจะทำให้ยอดตกเมื่อเทปไหนเป็นคนอื่นไปขาย

ก็จากการทำงานกับนายใหม่มาประมาณเดือนนึง สิ่งที่ผมสัมผัสได้ก็จะมีตาม 5 ข้อข้างต้นนี้ ซึ่งแต่ละแนวทางของแต่ละนายก็ได้ให้ประสบการณ์ที่สำคัญกับผมทั้งนั้น และทั้งสองนายก็เป็นคนที่เก่งทั้งคู่ หากใครที่อ่านมาจนถึงตอนท้ายนี้ และอยากเดาว่านายเก่าผมเป็นใคร และนายใหม่ผมเป็นใคร ก็ลองเม้นต์กันมาได้นะครับ อิอิ

Comments