Tip: จะจ่ายประกันสังคมด้วยตัวเอง ทำยังไง


ผมเชื่อว่าหลายๆคนต้องเคยจ่ายประกันสังคมกันมาอยู่แล้ว และเชื่อว่าบางคนคงจะมีคำถามว่า เราจ่ายประกันสังคมกันไปทำไม มามะ เดี๋ยวผมสรุปสั้นๆให้ฟัง

  1. เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ (ณ. โรงพยาบาลที่เราเลือกไว้) แต่อาจจะได้ไม่เต็ม เพราะเดี๋ยวนี้ค่าหมอแพงหลาย
  2. เบิกค่าทำฟัน
  3. มีชดเชยในกรณีทุพพลภาพ 
  4. หากเสียชีวิต มีค่าทำศพ 50,000 บาท และ รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต (ก็ชื่อว่าประกันอ่ะเนาะ)
  5. ช่วยค่าคลอดบุตร
  6. ช่วยค่าเทอมลูก
  7. มีเงินให้ช่วงตกงาน แต่มีเงื่อนไขต้องจ่ายประกันสังคมช่วงที่ทำงานติดต่อกันมาแล้ว 6 เดือน
  8. มีเงินติดมือหลังเกษียณ

หลายคนอาจจะบอกแหละว่าไม่ได้ใช้เลย หาหมอก็ไปคนละที่กับ รพ ที่เลือกในประกันสังคม ถอนฟันก็จ่ายเอง แต่เชื่อเหอะ ยังไงข้อ 8 ก็ต้องได้ใช้ แถมที่เราจ่ายประกันสังคมไปนั้น เรายังเอามาหักภาษีได้อีกด้วย ดังนั้นจ่ายๆไปเถอะ


เอาล่ะ แล้วทีนี้สำหรับคนที่เพิ่งออกจากงานล่ะ จะทำยังไงดี เดี๋ยวผมแนะนำให้ครับ

  1. ถ้าทำงานมานานกว่า 6 เดือน ให้ไปทำเรื่องขอเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง 
  2. ไปทำเรื่องจ่ายประกันสังคมด้วยตัวเอง ซึ่งจะเรียกว่า ประกันสังคม ม.39 โดยเขาจะให้เวลาเราไปสมัคร 6 เดือนนับจากวันที่ลาออกจากงาน และเราต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม 

เราสามารถโหลดเอกสารไปกรอกไว้ก่อนได้ (แบบ สปส. 1-20) หรือจะไปหยิบเอาที่สำนักงานประกันสังคมก็ได้ กรอกง่ายๆ ต่อเดือนที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ 432 บาท

สรุปเอกสารที่ต้องใช้มีดังนี้

  1. แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20) ... คลิก
  2. บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา
  3. หากต้องการให้หักจากบัญชีธนาคาร ให้ถ่ายสำเนาสมุดบัญชีธนาคารไว้ด้วยนะ (สไลด์ลงไปดูว่าธนาคารไหนทำได้บ้าง)

สถานที่ยื่นใบสมัคร

  • กรุงเทพฯ ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่
  • ภูมิภาค ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

วิธีการจ่ายเงินสมทบมาตรา 39

  • จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา พร้อมแบบส่งเงินสมทบฯ (สปส. 1-11)

หักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มี 5 ธนาคาร 

  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

จ่ายด้วยเงินสดที่ 

  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7- ELEVEN ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท สามารถจ่ายเงินสมทบได้ทุกสาขา

หน้าที่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39

ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะสิ้นสุดเมื่อ

  1. เสียชีวิต 
  2. กลับเข้าไปทำงาน (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33)
  3. ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน
  4. ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน
  5. ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน (สิทธิจะสิ้นสุดลงในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน) 

คร่าวๆก็ประมาณนี้ครับ เชื่อผมนะ ต่อให้ว่างงานถ้าไม่ลำบากมากจนเกินไป ต่อประกันสังคมเอาไว้เถอะ


หากเห็นว่าเนื้อหานี้เป็นประโยชน์ ช่วยกดติดตามเพจ NPMESTORY ด้วยนะครับ หรือทาง Line ที่ @npmestory ขอบคุณครับ

Comments